TGAT3 93 สมรรถนะการทำงาน

โครงสร้างข้อสอบ

  • ข้อสอบ TGAT3 93 สมรรถนะการทำงาน ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ

  • ส่วนที่ 1 : การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม (25 คะแนน)

    1) การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) ความเข้าใจในการกำหนดวิธีการรวบรวมประเด็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีหลักการในการสรุปผลการวิเคราะห์และแยกแยะข้อมูลที่ได้รับออกเป็นปัจจัยย่อย ๆ เช่น สาเหตุ ผลลัพธ์ ผลกระทบ ข้อเสนอแนะ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

    2) การแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ (Professional problem solving) ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาหรือเล็งปัญหา พร้อมทั้งลงมือจัดการกับปัญหานั้น ๆ อย่างมี ข้อมูล มีหลักการ และสามารถนำความเชี่ยวชาญ หรือแนวคิดในสายวิชาชีพมาประยุกต์ใช้ในการ แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    3) ความคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative thinking) การนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ทางเลือก สินค้าและบริการรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งการปรับเปลี่ยน กลยุทธ์ นโยบาย และรูปแบบการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม รวมถึงการพูดจูงใจผู้อื่น นำเสนอความคิดและรูปแบบของสินค้า บริการ และวิธีการดำเนินงานรูปแบบใหม่

    จำนวน: 15 ข้อ
  • ส่วนที่ 2 : การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน (25 คะแนน)

    1) การระบุปัญหา (Identifying problems) ประกอบด้วย ทำความเข้าใจบริบทแวดล้อม การระบุและทำความเข้าใจปัญหา การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในการระบุปัญหา

    2) การแสวงหาทางออก (Generating and selecting solutions) ประกอบด้วย การสร้างและหาทางเลือก และการประเมินทางเลือกที่เหมาะสม

    3) การนำทางออกไปแก้ปัญหา (Implementation) ประกอบด้วย การปฏิบัติตามแผน และการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

    4) การประเมินทางออกเพื่อการพัฒนาปรับปรุง (Evaluation) ประกอบด้วย เก็บข้อมูลจากการนำทางออกไปลองใช้ และสรุปผลจากการนำทางออกไปลองใช้

    จำนวน: 15 ข้อ
  • ส่วนที่ 3 : การบริหารจัดการอารมณ์ (25 คะแนน)

    1) ความตระหนักรู้ตนเอง (Self awareness) การรับรู้ ควบคุมสภาพอารมณ์ และทัศนคติ เพื่อรักษาอารมณ์ และประสิทธิภาพของตนเอง แม้ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดหรือมีภาระสูง มีความตระหนักถึงจุดแข็งของตนเอง รวมถึงจุดที่ต้องพัฒนา โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

    2) การควบคุมอารมณ์และบุคลิกภาพ (Personality and emotional control) ความสามารถในการแสดงออก ทางสีหน้า ท่าทาง และอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เมื่อต้องเผชิญกับบุคคล ลักษณะงาน และสถานการณ์ที่ตึงเครียด รวมถึงการให้คำปรึกษา แนะนำและสอนผู้อื่น ให้ควบคุมอารมณ์และบุคคลิภาพได้อย่างเหมาะสม

    3) ความเข้าใจผู้อื่น (Interpersonal understanding) ความเข้าใจความต้องการ ความกังวล และความรู้สึกของผู้อื่น ทั้งสิ่งที่แสดงออกและไม่แสดงออก และความสามารถในการตอบสนอง และให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม และเท่าเทียมกัน

    จำนวน: 15 ข้อ
  • ส่วนที่ 4 : การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม (25 คะแนน)

    1) การมุ่งเน้นการบริการสังคม (Service orientation) การคิด และทำสิ่งต่าง ๆ โดยมีความต้องการของสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ในใจเสมอ โดยมุ่งเน้นการศึกษา และทำความเข้าใจความต้องการต่าง ๆ แสดงถึงความมุ่งมั่นต้องการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างแท้จริง พร้อมพัฒนาและ รักษาความสัมพันธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน

    2) จิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental responsibility) การมีจิตสำนึก ตระหนักให้ความสำคัญ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทที่จะอนุรักษ์ และรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนให้น่าอยู่ ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน หรือร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กรอย่างเต็มที่ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวม

    3) การสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น (Creating local benefits) ความสามารถในการคิดค้น ออกแบบ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่แปลกและแตกต่างไปจากเดิม โดยการมุ่งเน้นพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ในระยะยาว และยั่งยืนให้แก่ประชาชน พื้นที่ หรือท้องถิ่นที่รับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม

    จำนวน: 15 ข้อ
  • ประเภทข้อสอบ ปรนัย (4 ตัวเลือก)

    เพื่อวัดทัศนคติ 4 ระดับ (รูปแบบการให้คะแนนจะระบุในแบบทดสอบ)

    การตอบคำถาม มี 2 แบบ คือ

    1) เลือกตอบตัวเลือกเดียว

    2) เลือกตอบหลายตัวเลือก

    ระยะเวลาที่ใช้สอบ 60 นาที

จำนวนข้อ

การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม / 25 คะแนน
15 ข้อ
การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน / 25 คะแนน
15 ข้อ
การบริหารจัดการอารมณ์ / 25 คะแนน
15 ข้อ
การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม / 25 คะแนน
15 ข้อ
รวม60 ข้อ
คะแนนเต็ม
100 คะแนน

ตัวอย่างข้อสอบ

  • 1. การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม

    แนวทางการออกข้อสอบ

    • การวิเคราะห์ชั้นเดียวจากข้อมูลที่ได้รับจากโจทย์
    • Critical thinking + Data sufficiency + Logical reasoning เช่น การคิดต้นทุนของสินค้า การกำหนดประเด็นสนับสนุน หรือประเด็นโต้แย้งกับข้อความที่ให้มา ความเพียงพอของข้อมูลในการแก้โจทย์ปัญหา
    • Design thinking: 5 stages of design thinking process
    • ให้นักเรียนเลือกตอบตัวเลือกเดียว เกณฑ์การให้คะแนน คือ คะแนนจะลดหลั่นตามความถูกต้องของคำตอบ

     

    ข้อ 1. บิวกิ้นเป็นลูกชาวสวนมะม่วง เมื่อมีโควิด 19 เขาจึงกลับไปเรียนออนไลน์ที่บ้านเกิด และได้ช่วยครอบครัวทำงาน ปีนี้ฝนฟ้าดี ชาวสวนมะม่วงได้ผลผลิตจำนวนมาก ส่งผลให้ราคารับซื้อมะม่วงหน้าสวนลดลง จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท ชาวสวนข้างเคียงได้นำมะม่วงบางส่วนมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวน ถ้านักเรียนเป็นบิวกิ้น นักเรียนจะทำอย่างไร

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.ขายมะม่วงกิโลกรัมละ 20 บาทตามเดิม (0.25)
    2.ขายมะม่วงกิโลกรัมละ 8 บาท เพื่อตัดราคา (0.50)
    3.นำมะม่วงบางส่วนมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวน เหมือนชาวสวนข้างเคียง (0.75)
    4.นำมะม่วงบางส่วนมาแปรรูป โดยให้แตกต่างจากชาวสวนข้างเคียง (1.00)

  • ข้อ 2. ลิซ่าเป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างสูงและมีน้ำหนักตัวที่น้อย มักจะพบความลำบากในการหาเดรสที่มีขนาดพอดีตัวมาสวมใส่ เธอจึงมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับคนที่มีหุ่นรูปร่างแบบเธอได้สวมใส่โดยเฉพาะ เธอได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองอยู่ 3 เดือน จนในที่สุดก็ได้เดรสต้นแบบขึ้นมา 1 ชุด ถ้านักเรียนเป็นลิซ่า นักเรียนจะทำอย่างไรในลำดับถัดไป

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.นำเดรสต้นแบบ มาให้ญาติทุกคนลองสวมใส่ (0.75)
    2.จ้างผลิตจำนวน 1,000 ตัว เพื่อเตรียมวางขาย (0.50)
    3.นำเดรสต้นแบบ ไปขอความเห็นจากเพื่อน ๆ ที่มีรูปร่างแบบเธอ (1.00)
    4.หาช่องทางส่งออกเดรส ไปยังต่างประเทศ (0.25)

  • ข้อ 3. ลูกคิดกับลูกน้ำเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งสองคนรู้จักกันที่งานเปิดบ้านของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ต่อมาได้คบกันทำให้กลายมาเป็นเพื่อนกันตั้งแต่นั้นมา หลังจากลูกน้ำรู้ว่าลูกคิดเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับสมาร์ตโฟนเป็นอย่างมาก จึงได้สอบถามเพื่อขอความช่วยเหลือจากลูกคิด ให้ช่วยแนะนำสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่ให้ที ถ้านักเรียนเป็นลูกคิด นักเรียนจะทำอย่างไรในลำดับถัดไป

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.สอบถามเพื่อหาสาเหตุว่า ทำไมลูกน้ำถึงอยากซื้อสมาร์ตโฟนใหม่ (1.00)
    2.แนะนำรุ่นที่สเปกดีที่สุด ในตลาดตอนนี้ให้ (0.50)
    3.ปฏิเสธการช่วยเหลือ เพราะว่าลูกน้ำทำตัวอวดรวย (0.25)
    4.หาข้อมูลสมาร์ตโฟนที่ราคาเหมาะสมกับนักเรียน จำนวน 3 รุ่น แล้วส่งให้ลูกน้ำเลือกเอง (0.75)

  • ข้อ 4. เชอรี่ได้ร่วมเข้าค่ายนักประดิษฐ์ โดยโจทย์คือให้คิดค้นสินค้าชนิดใหม่ เพื่อมาขายให้ผู้สูงวัย เชอรี่ควรจะทำอย่างไร

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.ไปบ้านพักคนชรา เพื่อสังเกตดูพฤติกรรมอย่างห่าง ๆ (0.50)
    2.โทรหาปู่ย่าตายาย เพื่อหาข้อมูล (0.75)
    3.หาข้อมูลสินค้า สำหรับผู้สูงวัยที่ขายดี (0.25)
    4.ถูกทุกข้อ (1.00)

  • 2. วิชาการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน

    แนวทางการออกข้อสอบ

    ข้อสอบเป็นบทความจำลองเหตุการณ์ โดยใน 1 เหตุการณ์ จะมีข้อคำถาม 4 ข้อ แบ่งเป็นการตอบคำถาม 2 แบบ คือ

    แบบที่ 1. ข้อสอบ 1 ข้อ มีหลายคำตอบ

    • นักเรียนจะพบข้อสอบนี้ ในข้อสอบลำดับที่ 1 และ 4 ของแต่ละสถานการณ์

    • ข้อสอบนี้ นักเรียนต้องพิจารณาว่าข้อมูลของแต่ละตัวเลือก เป็นข้อมูลที่ต้องการหรือจำเป็นหรือไม่ จากนั้นให้ ฝนตัวเลือกทุกข้อที่นักเรียนต้องการหรือจำเป็น ข้อสอบนี้จะมีคำตอบที่ต้องฝนอย่างน้อย 1 คำตอบเสมอ ในกรณีที่นักเรียนไม่ฝนคำตอบ จะถือว่าข้อนั้นไม่ได้คะแนน (คะแนนเป็น 0)

    • ตัวเลือกแต่ละตัวเลือกมีคะแนนไม่เท่ากัน โดย 1 ข้อจะมีคะแนนเต็มเท่ากับ 1 คะแนน นักเรียนจะได้คะแนนต่อเมื่อฝนคำตอบตรงตามรูปแบบ (Pattern) ของคำเฉลยเท่านั้น

    ตัวอย่างการให้คะแนน (สมมติคำตอบที่ถูกคือ ก. และ ค.)

    แบบที่ 2. ข้อสอบ 1 ข้อ ตอบคำตอบเดียว
    แต่เกณฑ์การให้คะแนนเป็นแบบ คะแนนลดหลั่นตามความถูกต้องของคำตอบ

     

     

    เหตุการณ์ “พาเหรดลำไย”

    ทุก ๆ ปี ชมรมคนใจขาวของโรงเรียนรั้วกระถิน จะจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างสัมพันธ์กับชุมชน หนึ่งในกิจกรรมของปีนี้คือ การจัดงานรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ในรูปแบบของขบวนพาเหรดที่จะเดินตามท้องถนนในชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของยาเสพติด คุณในฐานะเหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเบิกจ่ายและรับเข้างบประมาณ โดยทางชมรมได้รับความช่วยเหลือทางการเงินส่วนหนึ่งจากโรงเรียน และอีกส่วนจากผู้สนับสนุนภายนอกโรงเรียน

    ในการประชุมจัดสรรงบประมาณคราวนี้ สมาชิกบางส่วนเสนอและให้เหตุผลถึงความจำเป็นของการมีเสื้อชมรมว่าจะช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยังแสดงตัวตนของสมาชิกชมรมต่อผู้คนในชุมชนอีกด้วย ดังนั้นจึงเสนอให้ฝ่ายเหรัญญิกจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำเสื้อ คุณได้ชี้แจงว่าทุกปีที่ผ่านมาไม่เคยมีงบในส่วนของเสื้อชมรม ดังนั้นงบประมาณของปีนี้จึงต้องจัดเตรียมเงินในส่วนนี้ไว้ให้

     

    ข้อ 1. ถ้าจะเข้าใจปัญหานี้ คุณต้องหาข้อมูลอะไรเพิ่มเติม

    คำตอบ (เลือกได้หลายข้อ)

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1. ประมาณการค่าเสื้อชมรม (ฝนคำตอบ)
    2. ฐานะทางบ้านของสมาชิกชมรม (ฝนคำตอบ)
    3. ความต้องการงบประมาณของฝ่ายอื่น ๆ (ฝนคำตอบ)
    4. ความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม (ไม่ฝนคำตอบ)

    เฉลย เลือกตอบหลายตัวเลือก ตอบถูกได้ 0.25 คะแนน ตอบผิดได้ 0 คะแนน

  • ข้อ 2. ในความคิดของคุณ แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดควรเป็นข้อใด

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1. จัดทำแผนงบประมาณใหม่ โดยหักจากงบประมาณของกิจกรรมอื่นเท่า ๆ กัน เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการซื้อเสื้อ (0.25)
    2. ชี้แจงกับสมาชิกชมรมว่า ทีมงบประมาณได้วางแผนการใช้เงินตามแผนของปีก่อนไว้แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ เพราะจะกระทบกับกิจกรรมอื่น ๆ และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ได้ (0.50)
    3. จัดสรรงบประมาณบางส่วนให้กับการจัดทำเสื้อชมรม โดยปันจากงบประมาณของกิจกรรมอื่น ๆ ตามความยินยอมของสมาชิก ทั้งนี้สมาชิกต้องช่วยกันหาผู้สนับสนุนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้น (0.75)
    4. จัดประชุมสมาชิกชมรมเพื่อวางแผนจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายทุกกิจกรรม (1.00)

    เฉลย เลือกตอบตัวเลือกเดียว

  • ข้อ 3. ทีมงบประมาณได้ตรวจสอบค่าเสื้อชมรม พบว่าราคาไม่เกินตัวละ 150 บาท และต้องใช้ทั้งหมด 50 ตัว เป็นเงิน 7,500 บาท แต่ทางชมรมสามารถหางบประมาณมาได้เพียง 2,500 บาท โดยนำมาจากงบประมาณค่าสวัสดิการและของที่ระลึกในงาน ส่วนงบประมาณที่ขาดอีก 5,000 บาท ให้สมาชิกชมรมช่วยกันหาผู้สนับสนุนมาเพิ่มเติม เมื่อใกล้ถึงวันงานฝ่ายสวัสดิการแจ้งว่า งบประมาณที่จัดให้ไม่เพียงพอกับแผนที่วางไว้ จึงขอปรึกษากับทีมงบประมาณเพื่อหาแนวทางแก้ไข คุณจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.ตัดงบประมาณจากฝ่ายสื่อและอุปกรณ์ที่ยังไม่ได้ใช้ มาให้ฝ่ายสวัสดิการ เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว (0.25)
    2.เรี่ยไรเงินจากสมาชิกชมรมทุกคนเท่า ๆ กัน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชมรม (0.50)
    3.เร่งหางบประมาณเพิ่มเติม จากการให้สมาชิกเดินถือกล่องรับบริจาคในชุมชน (0.75)
    4.พูดคุยสื่อสารปัญหาและขอความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเกลี่ยงบประมาณคงเหลือ หรือให้ฝ่ายสวัสดิการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของที่ระลึกให้ถูกลง (1.00)

    เฉลย เลือกตอบตัวเลือกเดียว

  • ข้อ 4. คุณจะใช้ปัจจัยอะไรในการประเมินผล การแก้ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น

    คำตอบ (เลือกได้หลายข้อ)

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.การตระหนักรู้ของคนในชุมชนเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด (ไม่ฝนคำตอบ)
    2.ทุกกิจกรรมมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอ เพื่อทำให้งานสำเร็จ (ฝนคำตอบ)
    3.ความสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกในชมรม (ไม่ฝนคำตอบ)
    4.ความพึงพอใจของสมาชิกชมรม ต่อการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับ (ฝนคำตอบ)

    เฉลย เลือกตอบหลายตัวเลือก ตอบถูกได้ 0.25 คะแนน ตอบผิดได้ 0 คะแนน

  • 3. วิชาการบริหารจัดการอารมณ์

    แนวทางการออกข้อสอบ

    • เป็นข้อสอบแบบวัดทัศนคติ 4 ระดับ โดยทุกคำตอบจะมีคะแนนลดหลั่นตามความถูกต้องของคำตอบ

     

    ข้อ 1. สมมติว่าคุณเป็นเด็กชาย อายุ 17 ปี นั่งรถยนต์ไปกับคุณพ่อ เพื่อไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ขณะกำลังรอเพื่อที่จะจอดรถ ก็มีคนขับรถสวนทางมาเข้าที่จอดรถที่คุณรออยู่ เมื่อมองไปยังรถคันนั้น เห็นเป็นชายวัยกลางคน รูปร่างสูงใหญ่ ในสถานการณ์นี้คุณจะจัดการอย่างไร

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.ลงจากรถ เพื่อไปอธิบายให้คนขับทราบว่า รถของคุณมารอเตรียมที่จะจอด (1.00)
    2.บอกพ่อให้ขับรถผ่านไป นึกในใจว่า อย่าไปยุ่งกับรถคันนี้เลย (0.25)
    3.ลงจากรถไปบอกให้เขารีบขยับรถออก เพราะเรามารอก่อน (0.25)
    4.เอาคลิปจากกล้องหน้ารถ แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดียถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (0.00)

  • ข้อ 2. สมมติว่าคุณเป็นเด็กหญิง อายุ 16 ปี ถูกเพื่อนในโรงเรียนกันออกจากกลุ่ม แล้วเพื่อนกลุ่มนี้ก็บอกคนอื่นไม่ให้เข้ามายุ่งกับคุณด้วย คุณได้พยายามสื่อสารกับเพื่อนแล้ว แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น เพื่อนยังคงไม่สนใจคุณ การจัดการอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นี้

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.ไปบอกครูว่าคุณรู้สึกกังวลไม่สบายใจ และขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากครู (1.00)
    2.บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร อีกไม่นานก็เรียนจบ และเก็บตัวไม่ยุ่งกับใคร (0.50)
    3.ลงโซเชียลมีเดียว่าถูกกลั่นแกล้ง ขอให้คนมาช่วย (0.00)
    4.พยายามไม่คิดถึงสถานการณ์ดังกล่าว โดยไปอยู่กับเพื่อนกลุ่มอื่น (0.25)

  • ข้อ 3. สมมติว่าคุณเป็นเด็กชาย อายุ 15 ปี ขณะกำลังเดินอยู่ในโรงเรียน คุณได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน จึงเดินไปยังต้นเสียง พอเดินไปจึงพบว่าเพื่อนสนิทของคุณกำลังถูกแย่งโทรศัพท์มือถือจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่ควรทำมากที่สุดในสถานการณ์นี้คืออะไร

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.เข้าไปช่วยเหลือเพื่อน โดยเอาตัวของคุณเข้าไปขวางไม่ให้เขาทะเลาะกัน (0.00)
    2.ตะโกนบอกให้หยุด เพราะเพื่อนคุณคงรู้สึกกลัวและอาย (0.50)
    3.วิ่งไปหาครูเพื่อขอให้ครูมาช่วย เพราะเพื่อนกำลังโกรธ (1.00)
    4.ต้องเอาคืนแทนเพื่อน ถ่ายคลิปเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานให้ทางโรงเรียน (0.25)

  • ข้อ 4. สมมติว่ามีเพื่อนผู้หญิงอกหัก มาร้องไห้ และระบายให้คุณฟัง คุณจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1. บอกเพื่อนว่า ลืม ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป (0.00)
    2. ชวนเพื่อนไปส่องข้อมูลในโซเชียลมีเดียของแฟนเก่า เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม (0.00)
    3. บอกเพื่อนว่าผู้ชายส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้แหล่ะ ไว้ค่อยหาคนใหม่ก็ได้ (0.00)
    4. บอกว่าคุณอยู่ตรงนี้ มีอะไรเล่ามาให้ฟังได้ (1.00)
  • ข้อ 5. เมื่อเห็นเพื่อนกำลังเศร้า คุณจะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุด

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.เข้าไปแสดงความห่วงใยกับเพื่อน (1.00)
    2.ชวนเพื่อนไปเล่นเกมส์ เพื่อดึงความสนใจ (0.50)
    3.ไปเล่าให้เพื่อนคนอื่นฟังว่าเพื่อนกำลังเศร้า เพื่อขอคำแนะนำ (0.25)
    4.ชวนเพื่อนไปหาครูแนะแนว (0.75)

  • 4. วิชาความเป็นพลเมือง ความมีส่วนร่วม

    แนวทางการออกข้อสอบ

    • เป็นข้อสอบแบบวัดทัศนคติ 4 ระดับ โดยทุกคำตอบจะมีคะแนนลดหลั่นตามความถูกต้องของคำตอบ

     

    ข้อ 1. ในการแก้ปัญหาขยะในชุมชน วิธีใดต่อไปนี้สามารถแก้ปัญหาได้ โดยมีผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.กำหนดให้ร้านค้าในชุมชน ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก (0.00)
    2.สอนวิธีการแยกขยะ ให้แก่คนในชุมชน (1.00)
    3.นำเพิ่มจำนวนถังขยะในชุมชน ตามจุดต่าง ๆ ให้มากขึ้น (0.00)
    4.นำทำธนาคารขยะที่ศูนย์กลางชุมชน เพื่อรับซื้อขยะ (0.00)

  • ข้อ 2. ข้อตกลง Paris Agreement (COP21) มีเป้าหมายหลักเพื่อ

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.ลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก (1.00)
    2.แก้ไขปัญหาปากท้องและความยากจน (0.00)
    3.แก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มยุโรป และประเทศอื่น ๆ (0.00)
    4.แก้ไขปัญหาสิทธิบัตรยาและเวชภัณฑ์ (0.00)

  • ข้อ 3. ข้าวแต๋นน้ำแตงโมเป็นของฝากขึ้นชื่อจากลำปาง ที่ทำขึ้นเป็นแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย แต่มีคู่แข่งผลิตมาขายจากที่อื่น ๆ มากมายในท้องตลาด หากนักเรียนเป็นเจ้าของโครงงานช่วยแก้ปัญหาข้าวแต๋นลำปาง นักเรียนจะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

    คำตอบ

    คลิกเพื่อดูเฉลย →

    เฉลย/เหตุผลและแนวคิดในการตอบคำถาม

    1.ช่วยพัฒนาข้าวแต๋นให้แตกต่างจากของจังหวัดอื่น แล้วส่งมอบสูตรให้ชุมชน (0.00)
    2.ชวนชุมชนคิดเรื่องเอกลักษณ์ชุมชน การตลาด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตลาด (1.00)
    3.สร้าง Instagram page โปรโมทสินค้า สร้างตลาดใหม่ ๆ ให้กับชุมชน (0.00)
    4.ระดมทุนจ้างบริษัทเอกชนมาช่วยทำแผนธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน (0.00)

หมายเหตุ: "โครงสร้างข้อสอบและตัวอย่างข้อสอบ" เป็นแนวทางในการเตรียมตัวสอบของผู้เข้าสอบเท่านั้น มิได้หมายความว่า ข้อสอบในปีปัจจุบันจะต้องกำหนดระดับความถูกต้องของคำตอบเหมือนกันทุกประการ